วัดมิ่งเมือง (วัดจ๊างมูบ)
วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่บนถนนไตรรัตน์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย อยู่ทางทิศใต้ของเทศบาลนครเชียงราย
ประวัติ : วัดมิ่งเมือง สร้างเมื่อไหร่ไม่ปรากฏหลักฐาน เดิมเป็นวัดไทใหญ่ เนื่องด้วยในสมัยก่อนมีชุมชนไทใหญ่ อาศัยอยู่รอบบริเวณวัด ประกอบกับมีศาสนสถานและศาสนวัตถุแบบไทใหญ่ จึงถูกเรียกขานว่าวัดเงี้ยว แต่ชื่อที่ชาวเชียงรายรู้จักกันแพร่หลาย คือ วัดจ๊างมูบ เป็นภาษาเหนือ แปลว่า วัดช้างหมอบ เพราะมีรูปช้างทรงเครื่องหมอบอยู่ด้านบนบ่อน้ำ ที่สร้างเป็นซุ้มโขง
สิ่งที่น่าสนใจในวัด
พระธาตุมิ่งเมือง : ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับประธานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วิหารไม้ลายคำ : วิหารหลังนี้เป็นแบบศิลปะล้านนาประยุกต์ผสมผสานกับรูปแบบของวิหาร ไทใหญ่
หลวงพ่อพระศรีมิ่งเมือง : ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง มีนามว่า “หลวงพ่อพระศรีมิ่งเมือง” มีหน้าตักกว้างขนาด 80 นิ้ว มีพุทธลักษณะงดงามตามแบบศิลปะล้านนา เป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่งยุคต้น กล่าวคือเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระวรกายอวบอ้วน พระพักตร์กลมอมยิ้ม พระหนุเป็นปม ขมวดพระเกศาใหญ่ ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน พระรัศมีเป็นดอกบัวตูม โดยเฉพาะพระรัศมีนั้น แกะสลักจากหินแก้วจุยเจีย หรือแก้วโป่งข่าม ซึ่งเป็นหินที่เกิดขึ้นในดินแดนล้านนาเท่านั้น
น้ำบ่อจ๊างมูบ : บ่อน้ำโบราณมีหลังคาเป็นรูปซุ้มโขง ประดับด้วยรูปช้างทรงเครื่องหมอบอยู่ด้านบนบ่อ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นศิลปะแบบไทใหญ่ ในสมัยอดีตบ่อนี้ได้ให้ประโยชน์แก่ชุมชนชาวเชียงรายเป็นอย่างมาก เพราะเป็นบ่อน้ำแห่งเดียวที่อยู่ในบริเวณนี้ ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างในเมืองและนอกเมือง เมื่อชาวบ้านเดินทางไกลมา จะเข้าเมืองมาแวะพักดื่มน้ำที่บ่อนี้ก่อนไปทำธุระพอเสร็จธุระและจะออกจากตัวเมืองก็จะแวะพักเหนื่อย
ติดตามเรา กด “ถูกใจเพจ” เพื่อรับชมสถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญอื่นๆ ทั่วเขตเทศบาลนครเชียงราย และพื้นที่เชื่อมต่อ
This message is only visible to admins.
Problem displaying Facebook posts.
Click to show error
ให้กำลังใจเรา กดถูกใจ บทความนี้
แบ่งปันเรื่องราวนี้ให้เพื่อนๆ กดแชร์ บทความนี้