วัดเชียงยืน ตั้งอยู่เลขที่ 79 หมู่ 14 ถนนสันโค้งหลวง ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นวัดเก่าแก่และมีความสำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดเชียงราย เนื่องจากเป็นวัดมงคลนามประจำทิศใต้ ของเทศบาลนครเชียงราย และยังเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง
| ประวัติความเป็นมา |
วัดเชียงยืน (สังกัดมหานิกาย) เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2410 ตรงกับ จ.ศ. 1229 โดยครูบาจันต๊ะ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2489
เมื่อปี พ.ศ. 2470 พระครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย นักบุญแห่งล้านนา ได้เดินทางกลับจากการไปบูรณปฏิสังขรณ์ พระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง ได้มาพักที่วัดเชียงยืน และทำการบรรพชาให้แก่เด็กชายคำหล้า สุภายศ ต่อมาสามเณรคำหล้า ได้เริ่มสร้าง ถาวรวัตถุ โดยชักชวนชาวบ้านสร้างเจดีย์ขึ้น 1 องค์ ไว้ที่หลังพระวิหารวัดเชียงยืนเป็นองค์แรก และได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระครูบาศรีวิชัย ด้วยการบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ในเขตภาคเหนือ จนเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน และได้ยกให้เป็นครูบา มีชื่อเรียกว่า “พระครูบาคำหล้า สํวโร” เป็นต๋นบุญแห่งเมืองเชียงราย
| วิหารวัดเชียงยืน |
วิหารหลังปัจจุบันเป็นศิลปะล้านนาประยุกต์ เป็นรูปแบบอาคารสูง แบบคอนกรีตเสริมเหล็กที่นิยมสร้างในภาคกลาง ต่างจากศิลปะล้านนาแบบดั้งเดิม แต่ยังคงประดับตกแต่งลวดลายแบบศิลปะล้านนา ได้แก่ โก่งคิ้ว ระหว่างเสามีค้ำยัน หรือหูช้าง ป้านลมโค้งอ่อนแบบล้านนา เน้นระนาบเอนของตับหลังคา โครงสร้างหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น (ตับ) โดยยกเก็จออกทางด้านหน้า และด้านหลัง อย่างละ 2 ช่วง (ซด) กระเบื้องมุงหลังคาเป็นแบบดินเผาเคลือบ ช่อฟ้าเป็นรูปปากนกปลายงอน ป้านลมปลายเป็น รูปพญานาค หน้าแหนบและหน้าแหนบปีกนก ทำเป็นช่องลูกฟัก ด้านล่างโก่งคิ้วและเสาวิหารทำเป็นรูปเศียรพญานาค คล้ายกับอุโบสถ วัดมุงเมือง บันไดทางขึ้นมีรูปปั้นพญานาคเศียรเดียว รูปแบบมกรคายนาค และมีรูปปั้นช้างจำนวน 2 เชือก อยู่หน้าวิหารใกล้ๆ กับรูปปั้น พญานาค
ภายในวิหารมีภาพวาดพุทธประวัติที่น่าสนใจ คือ แต่ละเสาของวิหาร ประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นลวดลายเครือเถา แบบล้านนาผสมศิลปะไทยกลาง หน้าพระประธานมีสัตตภัณฑ์ แกะสลักเป็นรูปพญานาคเลื้อยพันกัน เป็นเครื่องสักการะของล้านนา ซึ่งใช้สำหรับจุดเทียนบูชา มีทั้งหมดเจ็ดยอด
| พระพุทธรูปประธานวัดเชียงยืน |
ภายในวิหารมีพระพุทธรูปองค์ประธาน เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย รูปแบบศิลปะล้านนา ที่รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย ขัดสมาธิราบ มีลักษณะเด่น คือ พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่งโค้งเป็นเส้นนูนลงมาบรรจบกันบนดั้งพระนาสิก ขมวดพระเกศาเล็ก มีพระรัศมีรูปเปลวเพลิง องค์พระบอบบาง ชายสังฆาฏิห้อยจาก พระอังสาซ้ายยาวลงมาจนถึงพระนาภี
ติดตามเรา กด “ถูกใจเพจ” เพื่อรับชมสถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญอื่นๆ ทั่วเขตเทศบาลนครเชียงราย และพื้นที่เชื่อมต่อ
This message is only visible to admins.
Problem displaying Facebook posts.
Click to show error
ให้กำลังใจเรา กดถูกใจ บทความนี้
แบ่งปันเรื่องราวนี้ให้เพื่อนๆ กดแชร์ บทความนี้